โครงการแปลอ้างอิงในพระไตรปิฎกสากล

การแปลพระไตรปิฎกสากล เป็นภาษาไทย มีประโยชน์อย่างไร ?

ในทางวิชาการ



1. เป็นประโยชน์ในการจัดทำระบบการแปลพระไตรปิฎกปาฬิภาสา เป็นภาษาไทย เพื่ออ้างอิงเป็นคำๆ ในรูปเขียนที่ไม่ประกอบวิภัติ หรือ "อวิภัตติกนิเทส" (avibʰattikanidesa) หรือที่ในทางวิชาการภาษาศาสตร์เรียกว่า "การแปลอ้างอิงสากล" (World Reference Translation) ซึ่งเป็นพื้นฐานของตรวจทานของคำทุกคำ ในตำแหน่งต่างๆ ด้วยระบบวิชาการทางภาษาศาสตร์และวิศวกรรมศาสตร์คอมพิวเตอร์ที่ยังไม่เคยมีการจัดทำมาก่อน

2. เป็นประโยชน์ในการศึกษาพระไตรปิฎกสากล หรือฉบับ "มหาสังคีติ ติปิฏก พ.ศ. 2500" อักษรโรมัน พ.ศ. 2548 ซึ่งเป็นฉบับที่จัดพิมพ์สำเร็จในประเทศไทย และปัจจุบันใช้อ้างอิงในหอสมุดสำคัญระดับนานาชาติทั่วโลก อันเป็นผลงานสำคัญของชาติไทยที่ต่อเนื่องจากการจัดพิมพ์พระไตรปิฎก จปร. อักษรสยาม อันเป็นพระไตรปิฎกที่ตีพิมพ์สำเร็จเป็นชุด และเป็นชุดที่ริเริ่มการพิมพ์ด้วยสัททสัญลักษณ์ชุดแรกของโลก พ.ศ. 2436

3. เป็นประโยชน์การจัดการข้อมูลในระบบเทคโนโลยีดิจิทัล ซึ่งใช้ฐานข้อมูลพระไตรปิฎกสากล อักษรโรมัน และสัททสัญลักษณ์สากล ตามสิทธิบัตรโปรแกรมสัชฌายะ เลขที่ 46390 ซึ่งกล่าวได้ว่าเป็นชุดที่สมบูรณ์ชุดแรกของโลก ทำให้จะสามารถดำเนินงานแปลได้อย่างรวดเร็วแม่นยำ และกล่าวได้ว่ามีประสิทธิภาพที่สุดในปัจจุบัน

4. เป็นประโยชน์ในการบูรณาการระหว่าง "ฉบับการแปลพระไตรปิฎก" (Tipiṭaka Translation) กับ พระไตรปิฎกฉบับการถอดอักษร (Tipiṭaka Transliteration) และ "ฉบับการถอดเสียง" (Tipiṭaka Transcription) ซึ่งการบูรณาการดังกล่าวนี้ยังไม่เคยมีในการสร้างสรรค์ในระดับนานาชาติ เพราะจะทำให้สามารถแสดงผลการพิมพ์ได้ทั้ง "รูปศัพท์" และ "รูปเสียง" ตลอดจนเปล่งเสียงอัตโนมัติ "สัชฌายะดิจิทัล" ด้วยเทคโนโลยีปัญญาประดิษฐ์ทางเสียงได้ในอนาคต

5. เป็นประโยชน์ในการสร้างผลงานทางวิชาการด้านพระไตรปิฎกสากล ที่เกิดจากการร่วมงานของนักวิชาการสหวิชา และคณะสงฆ์ผู้ทรงคุณวุฒิ ซึ่งสามารถใช้เทคโนโลยีที่ล้ำสมัยจัดทำให้สำเร็จภายในปี พ.ศ. 2563 นี้ และจะเปิดตัวได้ในระดับนานาชาติ



ประโยชน์สำหรับผู้แปล



1. ผู้แปลในโครงการนี้ ซึ่งเป็น ป.ธ. 9 ที่ได้รับการแต่งตั้งจากเจ้าอาวาสวัดโมลีโลกยาราม จะมีโอกาสได้ศึกษาพระไตรปิฎกสากล จากการสังคายนานานาชาติในระบบดิจิทัล ซึ่งต่างจากฉบับสยามรัฐ และ ฉบับ มจร. ซึ่งเป็นฉบับสังคายนาในประเทศไทย

2. ผู้แปลจะได้พบกับคำศัพท์ปาฬิภาสา ที่อาจไม่ตรงกับที่เคยศึกษามา เพราะเป็นคำศัพท์ที่วินิจฉัยตามมติของการสังคายนานานาชาติ ซึ่งคำเหล่านี้เรียกว่า คำที่เขียนต่างกัน (Variant Readings)

3. ผู้แปลจะได้พบกับคำศัพท์ปาฬิภาสา ในคัมภีร์มิลินทปัญหาปาฬิ คัมภีร์เนติปกรณปาฬิ และเปตโกปเทสปาฬิ ซึ่งรวมอยู่ในฉบับสังคายนานานาชาติ แต่ไม่รวมในพระไตรปิฎกของไทย

4. ผู้แปลจะมีความคุ้นเคยกับองค์ความรู้ในทางสหวิชาการใหม่ๆ โดยเฉพาะในทางภาษาศาสตร์ ที่ไม่มีในหลักสูตรเปรียบณธัมม์ ได้แก่ อักขรวิธีอักษรสยาม-ปาฬิ อักขรวิธีอักษรโรมัน-ปาฬิ และอักขรวิธีละหุคะรุ สัททะอักขะระไทย-ปาฬิ ซึ่งอ้างอิงไว้กับ อักขรวิธีพินทุบอด ที่ใช้ศึกษาและจัดพิมพ์พระไตรปิฎกปาฬิในประเทศไทยปัจจุบัน

5. ผู้แปลจะสามารถคุ้นเคยกับระบบการสืบค้นและอ้างอิงกับพระไตรปิฎกสากล ฉบับสัชฌายะ ซึ่งจะได้เปิดตัวในระบบดิจิทัลในต่างประเทศในเร็ววันนี้